Culture Shock คืออาการของคนที่ต้องย้ายจากประเทศที่ตนเองคุ้นเคย มาอยู่ในสถานที่ หรือ ประเทศที่ตนเองไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรม อาการแบบนี้มักเกิดขึ้นกับผู้ที่ไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศนานๆ หรือ คนที่เติบโต และ ใช้ชีวิตในประเทศหนึ่งแล้วต้องย้ายกลับมาอยู่ในประเทศที่เป็นบ้านเกิด ทำให้เกิดอาการไม่คุ้นเคยในวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป ดังเช่นชาวต่างชาติที่ต้องย้ายมาอยู่เมืองไทย หรือ คนไทยที่ไปเรียนต่างประเทศนาน ๆ พอกลับมาบ้านเกิด ก็เกิดอาการ ไม่คุ้นเคยทางวัฒนธรรม ทำให้รู้สึกเครียด กดดัน และ ไม่พอใจกับสิ่งแวดล้อม
บทความนี้จะทำให้เข้าใจถึง 5 ขั้นของความรู้สึก Culutre Shock และถ้าทำความเข้าใจได้แล้ว จะทำให้เกิดความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมมากขึ้น ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น และ ใช้ชีวิตได้อย่างเป็นสุขดังนั้นมาดูกันว่า 5 ขั้นตอนในการปรับทัศนคติเพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมไทยนั้นจะมีขั้นตอนอะไรบ้าง
ขั้นที่ 1 : ฮันนีมูนสเตจ รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับสถานที่ใหม่
ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ที่ได้มาเยือนเมืองไทยครั้งแรกพวกเขาจะรู้สึกตื่นตาตื่นใจ กับความแปลกใหม่ที่ได้เห็น และ ทำให้พวกเขามองข้ามข้อเสียของสังคม เช่นเดียวกับคนไทยที่จากเมืองไทยไปนานๆ เมื่อกลับมาเมืองไทยก็จะตื่นตาตื่นใจกับบ้านเมืองที่พวกเขาไม่คุ้นชิน อยากรู้อยากเห็นในทุกเรื่อง
ชาวต่างชาติหลายคนมองข้ามสายไฟที่ระโยงระยางอยู่ริมถนน ควันเสียจากรถยนต์ สภาพการจราจรที่แออัด เพราะพวกเขากำลังสนุกกับการได้กินส้มตำ ได้นั่งตุ๊กตุ๊ก ได้ชิมอาหารริมทาง ในขั้นนี้ชาวต่างชาติหลายคนถึงกับบอกกับตัวเองว่า พวกเขาอยากอยู่ในเมืองไทยไปตลอดชีวิต
ขั้นที่ 2 เริ่มมองเห็นความจริงและเป็นทุกข์กับสิ่งแวดล้อมรอบด้าน
หลังจากช่วงฮันนีมูนสเตจผ่านไปสามเดือน ชาวต่างชาติที่ หลงรักในทุกสิ่งที่เป็นเมืองไทย หรือ รู้สึกว่าตนเองสามารถมาใช้ชีวิตในเมืองไทยได้ จะเริ่มมองเห็นความผิดปกติรอบๆตัว ได้เห็นปัญหามากมายในเมืองไทย ที่พวกเขาทำเป็นมองไม่เห็นเมื่อสามเดือนก่อน
ชาวต่างชาติ หรือ คนไทยที่ต้องกลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทย เมื่อต้องเดินทางมาถึงขั้นที่สองพวกเขาจะเริ่มมีคำถามกับปัญหาในสังคมที่ไม่เป็นไปดั่งใจ ทุกอย่างรอบข้างดูจะผิดเพี้ยนไปหมด พวกเขาจะรู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยวอยู่ท่ามกลางคนไทยที่เป็นคนแปลกหน้า และจะเริ่มมีคำถามกับคนไทยกับพฤติกรรมที่พวกเขาไม่เคยเห็นและไม่เข้าใจ ดังเช่นเวลาที่พวกเขาได้ยินคำว่า “ไม่เป็นไร” ซึ่งไม่ได้หมายความตามคำพูดเช่นนั้น
ขั้นที่ 3 : ขั้นของความรู้สึกโกรธและเกรี้ยวกราดกับทุกสิ่งรอบตัว
ชาวต่างชาติ หรือ คนไทยที่ย้ายกลับมาอยู่เมืองไทย หลังจากที่อยู่ต่างประเทศมาเป็นระยะเวลานาน จะเข้าสู่สเตจที่สามหลังจากที่พวกเขารู้สึกว่า ตัวเองกลายเป็นคนแปลกหน้าของสังคมหรืออะไรต่อมิอะไรรอบด้าน ล้วนไม่เป็นไปดังใจ ความโกรธก็จะเริ่มก่อตัว และทำให้พวกเขาเข้าสู่ขั้นที่สาม
ชาวต่างชาติที่เข้าสู่สเตจที่สามสามารถเอ่ยประโยคที่ว่า “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” หรือเกิดความรู้สึกที่ว่า เป็นคนต่างชาติ มักจะถูกคนท้องถิ่นเอาเปรียบ อยู่เสมอ ในขณะที่คนไทยที่ต้องกลับมาอยู่บ้านเกิดจะรู้สึกเปรียบเทียบกับบ้านเมืองอื่นที่พวกเขาจากมา และเริ่มหัวเสียกับคนในสังคมเดียวกัน และมองเห็นแต่ความผิดพลาด ผิดปกติไปในทุกจุดของสังคมจนทำให้พวกเขาระเบิดอารมณ์ออกมาเหมือนคนไม่มีเหตุผล
ขั้นที่ 4 : เริ่มยอมรับสิ่งที่เป็น และ สิ่งที่เห็น
หากชาวต่างชาติที่คิดจะมาอยู่เมืองไทยสามารถผ่านขั้นตอนของความเกรี้ยวกราดมาได้ ด้วยการมองโลกอย่างที่เป็น ไม่ใช่อย่างที่ควรจะเป็น เชื่อว่าคนไทยที่ไปใช้ชีวิตในต่างแดนมานานและต้องการกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทยก็น่าจะก้าวข้ามกำแพงความรู้สึกเปรียบเทียบภายในใจตนเองมาได้เช่นกัน
เพราะเมื่อถึงขั้นตอนที่สี่ พวกเขาจะเริ่มทำใจยอมรับสิ่งที่เป็นและสิ่งที่เห็น ว่าวัฒนธรรมจากประเทศที่พวกเขาจากมานั้นแตกต่างจากสิ่งที่เป็นอยู่ในเมืองไทย ด้วยบริบทของสังคม การเมือง ศาสนา และ การปกครอง เมื่อเดินทางมาถึงขั้นที่สี่พวกเขาจะใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกสงบมากขึ้น มีคำถามในหัวน้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเห็นด้วยกับทุกอย่างที่เกิดขึ้นหรือยอมรับว่า สิ่งที่ปกติ กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
ในสายตาพวกเขา เพียงแต่การเดินทางมาถึงขั้นที่สี่ พวกเขาจะอยู่กับสังคมไทยด้วยความเข้าใจและยอมรับอย่างที่มันเป็น และเริ่มรู้สึกว่าที่ไหนบนโลกก็มีปัญหาเหมือนกัน
ขั้นที่ 5 : ปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมใหม่และปรับใช้สองวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน
ขั้นสุดท้ายของอาการ Culture Shock ที่หลายคนอาจมาไม่ถึง แต่ถ้ามาถึงจะทำให้พวกเขาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในความต่างของวัฒนธรรมได้ เพราะนี่คือขั้นตอนของการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมใหม่ โดยที่ยังไม่ทิ้งวัฒนธรรมเก่าเพียงแต่ปรับใช้ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสังคม
ถ้าเป็นชาวต่างชาติ พวกเขาจะเริ่มต้นเรียนภาษาไทย มีเพื่อนชาวไทย ส่วนคนไทยที่อยู่ต่างประเทศมานาน หากมาถึงขั้นนี้ได้ เขาจะปรับตัวให้เข้ากับสังคม แต่ยังคงระเบียบที่ดี หรือ วัฒนธรรมที่ดีจากประเทศที่เคยอยู่ ด้วยความตั้งใจที่จะทำให้สังคมนั้นดีขึ้น หรือ ทำให้ตัวเองนั้นมีศักยภาพมากขึ้น และทำให้เขาไม่กลายเป็นคนแปลกหน้าของวัฒนธรรมเก่าที่จากมาก สามารถผสานความเข้าใจของทั้งสองวัฒนธรรมได้อย่างลงตัว
ที่มา sanook.com